กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. เป็นกองทุนภาคบังคับที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอนาคตของคนไทย ที่จะเข้าสู่ Aging Society หรือมีผู้สูงอายุมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ปัญหาหลักเลยก็คือคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมความพร้อมออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติภาคบังคับจึงตอบโจทย์กลุ่มลูกจ้างบริษัทที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่เคยออมเงินเพื่อการเกษียณมาก่อน เพื่อให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณได้ โดยกองทุนนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี คลอบคลุมตั้งแต่พนักงานเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องก์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยต้องไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การสะสมเงินจะเป็นการสะสมร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

บริษัทเอกชนทุกบริษัทที่ต้องเข้าระบบกบช. โดยมีรายละเอียดอยู่ว่า 1.บริษัทที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป จะเริ่มเข้าระบบภายใน 1 ปี หลังจากประกาศใช้กฎหมาย 2.บริษัทที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป จะเข้าระบบภาใน 2 ปี หลังจากประกาศใช้กฎหมาย 3.บริษัทที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป ต้องเข้าระบบภายใน 5 ปี หลังจากประกาศใช้กฎหมาย นั่นหมายความว่าบริษัทเล็กจะมีต้นทุนในการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น บริษัทเองก็สามารถนำเงินที่เข้าสมทบนี้คิดเป็นรายจ่ายของบริษัทได้ โดยกองทุนได้กำหนดเพดานค่าจ้างอยู่ที่ 60,000 บาทต่อเดือน ในการคิดอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ ดังนั้นหากได้เงินค่าจ้าง 100,000 บาทต่อเดือน เวลานำค่าจ้างมาคิดสัดส่วนที่จะไปเก็บสะสมในกบช. ก็จะได้สูงสุดจากฐานรายได้ 60,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น โดยในช่วง 1-3 ปีแรก ต้องจ่ายเงินสมทบและเงินสะสมไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง ปีที่ 7-9 ต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 7% ของค่าจ้าง ปีที่ 10 เป็นต้นไปต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 10% ของค่าจ้าง และถ้าหากลูกจ้างได้เงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท จะไม่ต้องส่งเงินในส่วนนี้ แต่ยังคงได้รับเงินสมทบจากนายจ้างตามจำนวนปีที่เป็นสมาชิก โดยลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง โดย 30% ไม่คิดเพดานของค่าจ้าง

สามารถรับเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติได้โดยสามารถรับเงินเป็นก้อนทั้งหมดเลย หรือเลือกรับเงินเป็นแบบบำนาญ ค่อยๆทยอยรับทุกๆปี และหากต้องการใช้เงินเราสามารถถอนเงินมาเป็นบำเหน็จได้เช่นกัน ตามมูลค่าเงินในกองทุนที่เหลืออยู่ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ เพราะรัฐบาลต้องการกระตุ้นให้คนไทยออมเงินลงทุนเพื่อการเกษียณ แต่ต้องรอกฎหมายออกมาชัดเจนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งกบช. นั่นเป็นประโยชน์ต่อผู้สะสมเงิน ไม่ว่าจะมีมาตรการออกมาเป็นยังไงเราก็ต้องถูกบังคับเข้าร่วมอยู่แล้ว เพราะได้เงินจากนายจ้างสมทบอีกเท่าหนึ่ง แถมนำไปลงทุนและยังนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย